"กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์มุ่งมั่นให้การดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ เทพารักษ์ คุณภาพมาตรฐานโลก JCI : สอบถามข้อมูลบริการต่างๆของโรงพยาบาลได้ที่เบอร์ 02-7692900-9, 02-7389900-7, 038-500300-99 หรือ สายด่วน 1609 ตลอด 24 ชั่วโมง"

1609

1609

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งตับ


หมอขอแนะนำว่า พยายามรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ และให้ได้แคลอรี่เพียงพออย่างน้อย 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพื่อช่วยทำนุบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีความทนทานต่อโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคมะเร็งตับ ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้เพียงเล็กน้อยแล้วมีอาการอืดแน่นท้อง ขอให้พยายามรับประทานอาหารบ่อยครั้งแต่ทีละน้อย โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนมาก เช่น นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

-  ถ้ามีอาการบวมที่ท้องหรือที่เท้า ควรรับประทานอาหารเค็มให้น้อยลง ดื่มน้ำแต่พอควร ควรงดอาหารที่มีรสเค็มทุกชนิด เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม ยำซีเซ็กไฉ่ เต้าเจี้ยวหลน กะปิคั่ว ปลาร้า เป็นต้น
- ไม่ดื่มสุรา เหล้า เบียร์ ไวน์ บรั่นดี วิสกี้ และของมึนเมาทุกชนิด
- รักษาความสะอาด ระวังการติดเชื้อ เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ
- กินยาตามแพทย์สั่ง ให้ความร่วมมือและไว้วางใจแพทย์ในการรักษา

          ผู้ป่วยมะเร็งตับมักมีสุขภาพทรุดโทรมไม่มากก็น้อย ร่างกายอ่อนเพลียง่าย จึงควรพยานามลดภาระงานทั้งหมดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และที่สำคัญคือผู้ ป่วยจะต้องยอมรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นด้วย

          ในระยะบั้นปลายของโรคพยายามผ่อนคลายความซึมเศร้าวิตกกังวล ที่เรียกว่า “จิตบำบัด” ด้วยตนเอง เช่นการนั่งสมาธิวิปัสสนาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้จิตใจและอารมณ์สงบได้ ดีที่สุด พยายามฝึกให้มีสติรู้เท่าอารมณ์และความคิด การได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ สนใจศาสนธรรม ฝึกสมาธิ และเจริญสติ การฝึกให้มีปัญญาเห็นธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายความซึมเศร้า ลดความวิตกกังวล ความทุกข์ใจตรอมใจลงได้บ้าง

ญาติพี่น้องจะมีส่วนดูแลผู้ป่วยอย่างไร

          การเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ อย่ามีทัศนคติว่าเป็นโรคมะเร็งแล้วไม่มีทางรักษา จะรักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย ญาติต้องแสดงความสนใจดูแลผู้ป่วยทั้งกายและใจ โดยให้กำลังใจและกำลังขวัญซึ่งจะมีผลต่อการรักษาโรคเรียกว่า “จิตบำบัด”

          ไม่ควรแสดงอาการตกใจมาก โดยเฉพาะในช่วงต้น ๆ หลังจากที่ทราบแล้วว่าเป็นมะเร็ง หรือทำอะไรลับ ๆ ล่อ ๆ กระซิบกระซาบให้ผู้ป่วยสงสัย จะทำให้ผู้ป่วยสงสัยและขวัญเสีย ควรปรึกษาแพทย์และคนในครอบครัวร่วมกันว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ป่วยรับสภาพ ได้ดีที่สุด

          จะบอกความจริงของโรคให้ผู้ป่วยทราบหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้แล้วแต่จะพิจารณากันในครอบครัว โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการวางแผนชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นผู้นำครอบครัว ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงลักษณะของโรคที่เป็น อาจทำให้ดำเนินการธุรกิจผิดพลาดเป็นผลเสียต่อครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังได้

          ให้กำลังใจผู้ป่วย โดยเฉพาะในระยะแรกที่เป็นโรคนี้ เพราะผู้ป่วยบางคนในระยะนี้มักมีความวิตกกังวล ท้อแท้ ควรแสดงความห่วงใย และพร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างจริงใจตามอัตภาพ ให้ความเห็นอกเห็นใจปลอบใจ ให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง แต่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่เฝ้าผู้ป่วยตลอดทั้งวัน คุณภาพของเวลาที่ให้กับผู้ป่วยสำคัญกว่าปริมาณของเวลา จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคที่เป็นอยู่

          ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา ชักชวนผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัด และให้กำลังใจในการมารักษา

          สมาชิกในครอบครัวช่วยกันลดภาระทั้งหมดของผู้ป่วยลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำ ได้ อย่าแสดงปฏิกิริยารุนแรงตอบโต้เมื่อผู้ป่วยหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน

          เมื่อผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ควรให้ความสนใจดูแลให้ผู้ได้รับประทานยาและอาหารตามที่แพทย์แนะนำ และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัด จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นบ้าง

          การดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด แม้ในช่วงบั้นปลายของการดำเนินโรคจะมีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขขึ้นตามสมควรไม่ต้องทนทุกข์ทรมานใจ เป็นการตายแบบนอนตาหลับได้

ขอขอบคุณบทความจาก นพ.อาทิตย์ ภูผาธรรม
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและโรคตับ
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 กิ่งแก้ว