"กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์มุ่งมั่นให้การดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ เทพารักษ์ คุณภาพมาตรฐานโลก JCI : สอบถามข้อมูลบริการต่างๆของโรงพยาบาลได้ที่เบอร์ 02-7692900-9, 02-7389900-7, 038-500300-99 หรือ สายด่วน 1609 ตลอด 24 ชั่วโมง"

1609

1609

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

กินอย่างไร เมื่อท้องเสีย

กินอย่างไร เมื่อท้องเสีย

คำกล่าวที่ว่า "กองทัพเดินด้วยท้อง" ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกินอาหารได้อย่างดี เมื่อท้องอิ่มกิจกรรรมทุกอย่าง ย่อมขับเคลื่อนไปอย่างมีพลัง แต่ถ้า "ท้องเสีย" ขึ้นละก็ นอกจากกองทัพหยุด เดินแล้ว คนในกองทัพยังอ่อนแรงหมดกำลัง อย่าว่าแต่ออกรบปรบมือกับใครเลย ลำพังประคองตัวให้กลับมากินได้แบบเดิม ก็ไม่ง่ายแล้ว

อาการท้องเสีย

"ท้อง เสีย" บางทีเรียก "ท้องร่วง ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง" นั้น เป็นที่รู้จักของคนทั่วๆ ไปว่ามีอาการอย่างไร เพราะผู้ที่ท้องร่วงหรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ๆ ก็ยังสังเกตเห็นว่าผู้นั้นเดินเข้าออกห้องน้ำบ่อยขึ้นและเริ่มหมดแรง เพราะที่ถ่ายหลายรอบมีแต่อุจจาระออกมาเป็นน้ำ หรือมีเศษอุจจาระเหลวปนเป็นจำนวนมาก ร่างกายจึงสูญเสียน้ำไปจำนวนมาก ทำให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง อาการท้องเสียจึงเป็นสาเหตุสำคัญต้นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยพาสังขารตัวเองไปพบแพทย์
ในทางการแพทย์แบ่งอาการท้องเสียออกเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง

ท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ชื่อก็บอกอาการอยู่แล้วว่า เกิดท้องเสียอย่างทันทีทันใด ลักษณะถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง และมักมีอาการปวดท้องร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการอาเจียนหรือมีไข้ตัวร้อน โดยทั่วไปจะมีอาการอยู่ ๑-๒ วัน อย่างมากไม่เกิน ๑ สัปดาห์ สาเหตุหลักมักจะเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อน

สำหรับท้องเสียชนิดเรื้อรัง มักมีอาการปวดท้องและถ่ายเหลว ซึ่งจะเป็นๆ หายๆ เป็นแรมเดือน บางรายเป็นนานแรมปี สาเหตุที่เป็นโดยส่วนใหญ่จะมาจาก ความแปรปรวนในระบบทางเดินอาหาร หรือลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้า (irritable bowel syndrome) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของใครบางคนเท่านั้น บางครั้งนิยมเรียกว่าเป็นเพราะธาตุ (การย่อย) ของคนคนนั้นอ่อน (แอ) หรือเรียกว่าโรคธาตุอ่อนนั่นเอง
อาการถ่ายท้องแบบเรื้อรังมักจะเป็นหลัง จาก กินอาหารใหม่ ๆ ภายใน ๑๕-๓๐ นาทีจะถ่ายอยู่ ๒-๓ ครั้งก็ดีขึ้นเอง ไม่พบว่ามีอันตรายแทรกซ้อนใดๆ ได้
แต่สร้างความรำคาญและความลำบากในการวิ่งหาห้องสุขา

ผู้ ที่เป็นท้องเสียชนิดเรื้อรังมักจะมีอาการเมื่อกินอาหารที่เป็นสิ่งเร้า เช่น อาหารรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยว อาหารมัน น้ำส้มสายชู กะทิ สุรา เบียร์ นมสด ชา กาแฟ เป็นต้น หรือเกิดจากความเครียด เช่น วิตกกังวล คิดมาก เศร้า กลัว ตื่นเต้น โกรธ

อาการท้องเสียเรื้อรังยังพบได้ในผู้ที่มีปัญหาลำไส้ อักเสบ (inflamatory bowel disease) ซึ่งเกิดจากการ กินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเป็นเพราะเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่เกิดการแบ่งตัว เพิ่มมากขึ้น และกลายสายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่สร้างพิษแล้วกลับมาทำลายลำไส้เสียเอง ลำไส้จึงอักเสบ ทุก วันนี้พบผู้ป่วยท‰องเสียเรื้อรังที่มาจากสาเหตุนี้บ่อยขึ้น เนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะกันมากขึ้น ซึ่งยาปฏิชีวนะ ที่กินเข้าไปนั้นนอกจากกำจัดเชื้อที่ไม่ต้องการแล้ว ยังไปทำลายเชื้อที่ร่างกายต้องการมีไว้ด้วย เช่น เชื้อดีๆ ที่ลำไส้ใหญ่ (bowel flora) ด้วย ซึ่งเชื้อตัวนี้เปรียบเสมือนทหารปกป้องลำไส้ แต่เมื่อถูกทำลายไปก็ทำให้เชื้อผู้ร้าย แบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น แล้วบางครั้งยังกลายสายพันธุ์สร้างพิษออกมาทำให้ผู้นั้นถ่ายเหลวเป็นน้ำ เกิดการอักเสบและมีแผลเปื่อยในทางเดินอาหารอีกด้วย
อาหารสำหรับท้องเสียเฉียบพลัน
เวลามีอาการท้องเสีย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระ โดย เฉพาะท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งทำได้โดยการดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) ที่สามารถหาซื้อได้ตามท้อง ตลาดทั่วๆ ไป ละลายน้ำต้มสุกตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในฉลาก ดื่มครั้งละน้อยๆ (๑/๒ -  ๑ แก้ว) บ่อยๆ ทดแทนน้ำ ที่ถ่ายออกมา ถ้าไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่สำเร็จรูปก็อาจ เตรียมเองได้ โดยใช้เกลือป่น ๑ ช้อนชา กับน้ำตาลทราย ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุก ๑ ขวดน้ำปลา (ประมาณ ๗๕๐ ซีซี)

บางคนเชื่อว่าเวลา ท้องเสียควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด เพื่อให้เกิดการหยุดถ่าย แต่ที่จริงแล้วคนที่มีอาการท้องเสียไม่ว่าจะเป็นชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องอดอาหาร การไม่กินหรือดื่มอะไรเลย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่จริงแล้ว ควรกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย โดยเน้นอาหารที่มีข้าวหรือแป้งเป็นหลัก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป

ผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ควรงด ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และไม่ควรดื่มนม จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการถ่ายท้องมากขึ้น ในเด็กเล็กที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลัน ถ้าดื่มนมแม่อยู่ก็ให้ดื่มตามปกติ ถ้าดื่มนมขวดในระยะแรกที่ท้องเสีย (๒-๔ ชั่วโมงแรก) ให้ดื่มนมที่ผสมเจือจางลง (ลดนมผงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคย ผสม) จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงให้ดื่มนมผสมตามปกติได้

โดย ทั่วไปท้องเสียชนิดเฉียบพลันที่ไม่รุนแรงมาก การทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และการกินอาหารดังกล่าวข้างต้นจะทำให้อาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และสามารถกลับไปกินอาหารปกติได้ หลังจากหยุดอาการท้องเสียแล้ว ๑ วัน แต่ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ คืออาการถ่ายท้องจำนวนมากและบ่อย มีอาการไข้ ปวดท้องมากและอาเจียนร่วมด้วย อาการรุนแรงเช่นนี้ปล่อยไว้นานอาจจะมีอาการช็อกหมดสติได้
อาหารสำหรับท้องเสียเรื้อรังกรณีท้องเสียเรื้อรังที่มีสาเหตุจากธาตุอ่อน ควรเริ่มต้นจาก การสังเกตดูว่าอาหารประเภทใดเป็น สิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการท้องเดิน ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น ถ้าความเครียดทางอารมณ์เป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดอาการท้องเสีย ก็ควรรู้จักการฝึกผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ อาหารที่กระตุ้นทำให้เกิดการถ่ายท้องในแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การสังเกตตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ การงดหรือหลีกเลี่ยงชนิดของอาหาร ควรทำกรณีที่จำเป็นที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับอาการท้องเสียเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายเรามีโอกาสได้รับชนิดอาหารที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้

การกินอาหารที่มีกากมาก (ใยอาหารสูง) จำพวก ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ ทำให้อาการถ่ายท้องในคนที่มีปัญหาธาตุอ่อนและลำไส้อักเสบดีขึ้น
เพราะ ว่าใยอาหารจะช่วยทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้กลับมาเป็นปกติ ช่วยลดแรงดันของผนังลำไส้ใหญ่และเพิ่มเนื้ออุจจาระ การกินอาหารที่มีใยอาหารสูงนี้ ควรกินในยามที่ร่างกายปกติด้วย เพราะเป็นส่วนที่ร่างกายต้องการและช่วยทำให้เรามี สุขภาพดีด้วย

มี ข้อแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้กับคนทั่วไป คือ ควรกินใยอาหารประมาณ ๒๐-๓๕ กรัมต่อวัน ซึ่งจะ พอๆ กับการกินผักชนิดต่างๆ ให้ได้วันละ ๔-๖ ทัพพี และตามด้วยผลไม้หลากหลายให้ได้วันละ ๓-๕ ถ้วยตวง หรือคิดง่ายๆ ว่าพยายามกินผักและผลไม้ให้ครบทุกมื้ออาหาร

อาหารที่มีไขมันต่ำ
นอกจากย่อยง่ายแล้วยังทำให้การหดรัดตัวของลำไส้ใหญ่ลดลง ส่งผลให้การ ขับถ่ายอุจจาระลดลงได้ คนที่มีอาการท้องเสียเรื้อรัง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงจำพวกอาหารทอด ผัดที่ใช้น้ำมันมาก หรือเนื้อติดมันเยอะๆ

สำหรับคนที่มีอาการท้องเสียเนื่องจากกินยา ปฏิชีวนะมากเกินไป ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เรียกง่ายๆ ว่าฝ่ายดีนั้นถูกทำลายและมีปริมาณน้อยลง การกินอาหารที่มีเชื้อจำพวก แล็กโตบาซิลลัส (Lactobacillus) หรือ ไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium) จะช่วยทำให้ลำไส้ใหญ่มีเชื้อฝ่ายดีดังกล่าวเพิ่มขึ้น และอาการท้องเสียเรื้อรังจะดีขึ้นได้ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ดังกล่าว เรามักจะนึกถึงนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต

อย่าง ไรก็ตาม นมเปรี้ยวหรือโยเกิรŒตที่ขายอยู่ทั่วไปบางชนิดไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่ยังมี ชีวิตอยู่ เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตได้ผ่านความร้อนสูง ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ ตายเรียบ ผลิตภัณฑ์จำพวกนี้สังเกตได้ไม่ยาก คือ นมเปรี้ยวที่บรรจุกล่อง UHT (คุณค่าของนมยังอยู่ แต่เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ตายระหว่างเจอความร้อน) ดังนั้นผู้บริโภคควรเข้าใจกรรมวิธีการผลิต และอ่านฉลากอาหารให้ดีก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้

นิสัยการกินก็มีส่วนสำคัญทำให้อาการท้องเสียทุเลาลงได้ เริ่มจาก ไม่ควรกินอาหารแต่ละครั้งมากเกินไป เพราะ ปริมาณอาหารที่มากทำให้เกิดการขยายของผนังหน้าท้องเพิ่มขึ้น (abdominal distention) และมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการอดอาหารมื้อหนึ่งแล้วกินอาหารมื้อถัดไปมากขึ้น แต่ควรกินอาหารน้อยๆ บ่อยครั้ง ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและไม่กินอย่างเร่งรีบ อาหาร ที่ไม่ได้ผ่านการเคี้ยวจะย่อยยากและทำให้การดูดซึมสารอาหารไม่ดี และการกินอาหารที่เร็วเกินไปอาจทำให้มีแก๊สในลำไส้มากขึ้น ทำให้ท้องอืดได้ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำมากๆ ให้ได้วันละ ๘-๑๐ แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

อาการท้องเสีย เป็นอาการที่เป็นกันได้ง่าย เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย หากเราเรียนรู้การดูแล ตนเอง และการกินอาหารข้างตน ก็จะช่วยผ่อนหนัก ให้เบา ยังช่วยฟื้นฟูให้ร่างกายดีขึ้น และยังป้องกันได้ด้วย

ข้อมูลสื่อ

312-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เรื่องน่ารู้
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ
 
ที่มา : หมอชาวบ้าน
ภาพประกอบจาก Internet