"กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์มุ่งมั่นให้การดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ เทพารักษ์ คุณภาพมาตรฐานโลก JCI : สอบถามข้อมูลบริการต่างๆของโรงพยาบาลได้ที่เบอร์ 02-7692900-9, 02-7389900-7, 038-500300-99 หรือ สายด่วน 1609 ตลอด 24 ชั่วโมง"

1609

1609

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

หน้าฝนนี้ อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง

หน้าฝนนี้ อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง อาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาไม่เหมาะสม และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
หน้า ฝนนี้ อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง อาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาไม่เหมาะสม และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
     อย. ห่วงใยผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หากเป็นหวัด เจ็บคอ ขอได้อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น และทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา เพราะโรคหวัดเกิดจาก  เชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น พร้อมแนะ วิธีการเบื้องต้นในแยกแยะระหว่างอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส กับอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
     ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นโรคหวัดได้ง่าย โดยจะมีอาการเจ็บ
คอ น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย และเมื่อมีอาการเหล่านี้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าจะต้องกินยาปฏิชีวนะ  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ประชาชนควรมีความรู้ก่อนว่าอาการหวัดเจ็บคอที่เป็นนั้นมีสาเหตุจากอะไร เนื่องจากส่วนใหญ่ของหวัดเจ็บคอ (ร้อยละ 80) มักเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 20) ที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หากประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ และกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่เป็นหวัดเจ็บคอ เขาจะได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นบ่อยถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว
     วิธีการเบื้องต้นในการแยกแยะระหว่างการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย คือ หากเป็นหวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส มักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ เสียงแหบ คันคอ เจ็บคอ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย อาจนานประมาณ 7-14 วัน อาการจะมากสุดในช่วงวันที่ 3–5 หลังจากนั้นอาการโดยรวมจะค่อยๆ ดีขึ้น น้ำมูกจะน้อยลงและข้นขึ้นบางทีอาจมีสีออกเหลืองโดยเฉพาะช่วงเช้า แต่อาการไออาจอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ งานวิจัยชี้ชัดว่ายาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้อาการไอและหวัดหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด การรักษาที่ดีที่สุด คือ การพักผ่อนและดื่มน้ำอุ่นเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อ ไวรัส และอาจปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการหวัด ไอ คัดจมูก หรือเจ็บคอ
     ส่วนอาการเจ็บคอที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งพบน้อย) มักมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 4 ข้อนี้ร่วมกัน คือ (1) ไม่ไอ (2) มีไข้ (3) ต่อมทอนซิลมีจุดขาวหรือเป็นหนอง (4) ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโตกดเจ็บ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสำรวจต่อมน้ำเหลืองของตนเองโดยการคลำบริเวณใต้ขากรรไกรเพื่อดู ว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้โตหรือกดเจ็บหรือไม่ และสามารถดูต่อมทอนซิลของตนเองโดยการอ้าปากและส่องกระจกดูที่ต่อมทอนซิลว่า มีจุดขาวหรือเป็นหนองหรือไม่ หากมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ หรือมีอาการครบทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า ก่อนกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งต้องมั่นใจว่าโรคที่เป็นมีสาเหตุจาก     เชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะโดยไม่รู้ว่าป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ โดยสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรซ้ำทุกครั้งเพื่อความมั่นใจ และขอเตือนประชาชนอย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง อย่าใช้ยา ปฏิชีวนะตามที่ คนอื่นแนะนำ และอย่าแบ่งยาปฏิชีวนะของตนเองให้แก่ผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด เช่น เพนนิซิลลิน  อะม็อกซิซิลลิน  เตตร้าซัยคลิน อิริทโทรมัยซิน โคทรัยม็อกซาโซล เป็นต้น และแต่ละชนิดใช้กับเชื้อแบคทีเรียต่างกัน และที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าเขาแพ้ยาหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอะไร อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับ           ผู้กระทำผิดต่อไป
ที่มา : อย.