![]() |
![]() |
![]() |
- โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) คือโรคอะไร
โรคมือ เท้า และปาก
เป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส อาการป่วยได้แก่ มีไข้
มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม
และเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง (มักไม่คัน เวลากดจะเจ็บ)
ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า
โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และน้อยมากในเด็กวัยรุ่น
- โรคนี้พบที่ใดบ้าง
โรคนี้พบผู้ป่วยและการระบาดได้ทั่วโลก
มีรายงานการระบาดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเอนเทอโรไวรัส 71
ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย (พ.ศ. 2540) และไต้หวัน (พ.ศ.
2541) เป็นต้น
ในเขตร้อนชื้น โรคเกิดแบบประปรายตลอดปี พบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งอากาศเย็นและชื้น การระบาดมักเกิดขึ้นในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
- โรคมือ เท้า ติดต่อได้อย่างไร
โรคมือ เท้า ปาก มักติดต่อโดยการได้รับเชื้อจากอุจจาระ
ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก
การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย
การแพร่ติดต่อเกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย
และแม้อาการทุเลาลงแล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อได้บ้าง
เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์
- ผู้ใหญ่สามารถติดโรคมือ เท้า ปาก จากเด็กได้หรือไม่
ผู้ใหญ่ในมักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก
ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะจำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับเชื้อ
หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถเป็นโรคได้อีก
ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรคหรือมีอาการเล็กน้อย
แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้
- หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากเสี่ยงติดโรคหรือไม่
ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการป่วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าการติดเชื้อมีผลต่อการแท้งบุตร ความพิการของเด็ก หรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ อย่างไรก็ตาม เด็กอาจได้รับเชื้อขณะคลอดหากมารดาป่วยในช่วงใกล้คลอด เด็กแรกเกิดที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง
การป้องกันทำได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี (อ่านรายละเอียดในหัวข้อ “จะป้องกันโรคได้อย่างไร”) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อรับเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างคลอด
- หากติดเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการเมื่อใด
ส่วนใหญ่แสดงอาการป่วยภายใน 3 - 5 วันหลังได้รับเชื้อ โดยไข้เป็นอาการแสดงเริ่มแรกของโรค
- อาการของโรคเป็นอย่างไร
เริ่มด้วยไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1 - 2 วันแรก
และลดลงเป็นไข้ต่ำ ๆ อีก 2 - 3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก
มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร
จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ
ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ
ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง (maculo-papular vesicles) มักไม่คัน
แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ (ulcer)
อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 – 10 วัน
ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณอันตรายได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ
- ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ที่รุนแรง
โดยทั่วไปโรคมือ ปาก เท้า เป็นโรคที่ไม่อันตราย
ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่ไม่มีความรุนแรง
ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรค
ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยเล็กน้อย หายได้เองภายใน 7 -10 วัน
และแทบไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
แต่เด็กอ่อนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต
- วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปาก ได้อย่างไร
โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยจากอายุ ประวัติ และอาการ
โดยสังเกตลักษณะผื่นหรือตุ่มแผลต่าง ๆ ที่ปรากฏ
รวมถึงวินิจฉัยแยกจากโรคที่มีอาการแผลในปากอื่น ๆ เช่น
โรคติดเชื้อเริมในช่องปาก ฯลฯ
สำหรับการส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมักไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค
เบื้องต้น เพราะต้องใช้เวลานาน 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อแยกและยืนยันเชื้อสาเหตุ
จึงทำในเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือยืนยันการระบาดเท่านั้น
- โรคนี้รักษาได้หรือไม่
รักษาได้ตามอาการ
โดยทั่วไปใช้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
ฯลฯ แต่ไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ
โรคนี้หากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้และพักผ่อนพอ
ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เองในช่วง 7-10 วัน
แต่ผู้ดูแลเด็กควรดูแลเด็กป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก
และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต
และส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
- จะป้องกันโรคมือ เท้า ปากได้อย่างไร
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เป็น
ประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด
ใช้ภาชนะอาหาร หรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาความสะอาดทั่วๆไป
การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ
- หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร
แยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ
ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5 - 7 วัน
หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ เป็นต้น
ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรอยู่ในที่ที่มีระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
- หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรทำอย่างไร
มาตรการช่วงที่เกิดโรคระบาดต้องเน้นการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อ
ซึ่งอาจมีความจำเป็นจะต้องประกาศเขตติดโรคและปิดสถานที่ เช่น
สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงเรียนเด็กเล็ก (อาจรวมถึงสระว่ายน้ำ สถานที่แออัด
ฯ) เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กป่วย และเน้นการล้างมือบ่อยๆ
รวมทั้งการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านเรือนที่มีผู้ป่วย
ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยง ควรดำเนินการ ดังนี้
- แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวนการระบาด ให้ความรู้ และคำแนะนำ
- เผยแพร่คำแนะนำ เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ช่วยป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
- เฝ้าระวังโดยตรวจเด็กทุกคน หากพบคนใดที่มีอาการโรคมือ เท้า ปาก ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน 7 -10 วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ
- ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
- พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (กรณีมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน) ประมาณ 5 - 7 วัน
- หากพบว่ามีการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก หรือ มีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก พิจารณาให้ปิดชั้นเรียนที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2 ราย หากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน พร้อมทำความสะอาด อุปกรณ์รับประทานอาหาร, ของเล่นเด็ก, ห้องน้ำ, สระว่ายน้ำ และให้มั่นใจว่าน้ำมีระดับคลอรีนที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน
- ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้อม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว (20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1 ลิตร) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วเช็ดล้างด้วยน้ำสะอาด
- ทำความสะอาดของเล่นเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
- หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
- จะทำลายเชื้อได้อย่างไร
- เชื้อนี้ถูกทำลายโดยแสงอุลตราไวโอเล็ตในแสงแดด ในสภาพที่แห้ง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน
- เชื้อนี้ถูกทำลายโดยการต้มที่ 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที
- เชื้อนี้ถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาซักล้างทั่วไป โซเดียมไฮโปคลอไรด์ (Sodium Hypochlorite) 1% หรือ กลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde), ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) 0.3% และคลอรีนผสมน้ำ 0.1 ppm (part per million) หากทำลายเชื้อในอุจจาระจะต้องใช้คลอรีนที่เข้มข้นมากกว่านี้
- เชื้อนี้ถูกทำลายได้โดยวิธีทำให้ปราศจากเชื้อ (pasteurization), steam sterilization, Ethylene Oxide Sterilization(ETO) และ hydrogen peroxide gas plasma
- คลอรีนในสระว่ายน้ำฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ได้หรือไม่ เด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้จากสระว่ายน้ำได้ไหม
ความเข้มข้นของคลอรีนในสระว่ายน้ำตามมาตรฐานต้องมีอย่างน้อย 1
มิลลิกรัมต่อลิตร (1 ppm (part per million))
ซึ่งมีปริมาณคลอรีนเพียงพอที่จะทำลายเชื้อได้
แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนำเด็กป่วยไปสระว่ายน้ำ
และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของสระว่ายน้ำอย่างเคร่งครัด
- ความเสี่ยงต่อผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศเกิดโรคระบาดมีมากน้อยเพียงใด
ไม่มีข้อห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ เด็กอายุต่ำกว่า 10
ปี เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ
หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีรายงานว่ากำลังเกิดโรคระบาด
ผู้ปกครองเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น
ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย
และไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด
และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และควรอยู่ในที่ที่มีระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
- แจ้งการระบาด ได้ที่ใดบ้าง
- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-1882, 0-2590-1795
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง
- สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2245-8106
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ขอเอกสารและคำแนะนำได้ที่ใดบ้าง
- เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
- เว็บไซต์สำนักโรคติดต่อทั่วไป http://thgcd.ddc.moph.go.th
- เว็บไซต์สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค http://www.epid.moph.go.th
- เว็บไซต์กุมารแพทย์ราชวิลัยแห่งประเทศไทย http://www.thpediatrics.org
- ศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 0-2590-3194, 02-590-3167
- สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครโทร. 0-2245-8106 และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่
- เอกสารอ้างอิง :
- คู่มือโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
- คู่มือโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- WHO Fact Sheet No 174, June 1998
- CDC Media Relations, Fact Sheet September 2006 SingaporeGovernment Media Release (4 & 5 October
ที่มา : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่
|
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
18 ตุลาคม 2550
|