ส่วนใหญ่มักจะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีอาการอะไรเลย และถ้ามีอาการเริ่มแรกค่อนข้างจะคลุมเครือ เช่น ผอมลง เจ็บชายโครงขวา อ่อนเพลีย เหรื่อยง่าย ทำงานไม่ค่อยไหว ต่อมาอาการจะชัดเจนขึ้นเมื่อมีความรู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น เบื่ออาหาร จุกเสียด แน่นท้อง น้ำหนักลดมากในช่วงระยะท้าย ๆ และอาการสำคัญคือปวดบริเวณชายโครงขวา และอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือบริเวณลำตัวซีกขวาทั้งหมด หรือคลำได้ก้อนที่ชายโครงขวา ในบั้นปลายอาจจะมีไข้เรื้อรัง บางรายอาจมีอาการของตับแข็ง เช่น ขาบวม ท้องบวม ที่เรียกว่าท้องมาน เป็นต้น
ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งเมื่อเกิดมีอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลดลง บวม หรือมีอาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ควรจะรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีมะเร็งตับแทรกซ้อนได้ ในทำนองเดียวกันผู้ที่ไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งตับ เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสชนิดบี และซี หรือดื่มสุรามาก หรือมีประวัติกรรมพันธุ์คนใกล้ชิดในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ ควรปรึกษาแพทย์ และได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆ โดยเจาะเลือดหาระดับแอลฟาฟีโตโปรทีน และทำอัลตราซาวด์ของตับ เพื่อตรวจหามะเร็งตับในระยะต้น ๆ ได้
ข้อแนะนำสำหรับท่านที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ดื่มสุรามาก หรือมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ท่านควรจะเอาใจใส่ตนเองเป็นพิเศษควรไปหาแพทย์เป็นประจำ เช่น ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดูสมรรถภาพการทำงานของตับ (Liver function test) ระดับแอลฟาฟีโตโปรทีน (alfa – fetoprotein) และการตรวจด้วยคลื่นเสียงตับ (อัลตราซาวด์) จะสามารถตรวจพบมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นได้
ขอขอบคุณบทความจาก นพ.อาทิตย์ ภูผาธรรม
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและโรคตับ
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 กิ่งแก้ว